เราต่างไม่สมบูรณ์แบบและผิดพลาดกันทั้งนั้น.. นั่นเป็นความจริงอย่างหนึ่งที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หลังจากนอยด์ ตัดพ้อ และต่อว่าตัวเองในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้ว เราก็ต้องหาวิธีเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้น เพื่อที่จะไม่ผิดซ้ำที่เดิมอีก
โดยหลักแล้ว ความผิดพลาดของคนเราสามารถแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ผิดเพราะไม่รู้หรือซุ่มซ่าม : ความผิดพลาดแบบนี้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เช่น การเดินเตะขอบโต๊ะ หรือทำกระเป๋าตังหาย
- ผิดเพราะไม่ใส่ใจ : ความผิดประเภทนี้ที่จริงสามารถป้องกันได้ง่ายๆ แต่เรากลับต้องก้มหน้ายอมรับเพราะเราใส่ใจไม่เพียงพอ เช่น การลืมจ่ายค่าเน็ตจนเน็ตตัด หรือการลืมวันเกิดคนสำคัญ
- ผิดเป็นนิสัย : ความผิดพลาดประเภทนี้ป้องกันได้เช่นกัน แต่อาจจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้น เพราะเราผิดจนเป็นนิสัยไปเสียแล้ว เช่น การไปทำงานสายบ่อยๆ หรือ การเสพติดอาหารที่ไม่มีประโยชน์ (แต่อร่อย) ทุกมื้อ
- ผิดแบบซับซ้อน : ความผิดนี้ยุ่งยากและอาจจะไม่มีวิธีป้องกันอย่างตรงไปตรงมา เช่น เรื่องความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ หรือการตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่ให้ผลลัพธ์ไม่ตรงกับที่ต้องการ
ส่วนกระบวนการเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นสั้นๆ ง่ายๆ 3 ขั้นตอน คือ 1. ทำสิ่งที่ผิดพลาด 2. ยอมรับผิด 3. กล้าพอที่จะเปลี่ยนแปลง
การเรียนรู้ความผิดแบบที่ 1 และ 2 นั้นง่าย ใครๆ ก็สามารถเรียนรู้และไม่ทำผิดซ้ำได้ ผลของความผิดเพราะ ‘ไม่รู้’ กับผิดเพราะ ‘ไม่ใส่ใจ’ นั้น จะช่วยให้คุณได้รู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าตัวเองหลงลืมเรื่องอะไร ชอบทำพลาดตรงจุดไหน ลองสังเกตตัวเอง และค่อยๆ ปรับไม่ให้ผิดพลาดซ้ำเดิมได้
แต่ความผิดแบบที่ 3 และ 4 ต่างหาก ที่มีความท้าทายขึ้นมาอีกหลายเท่า
ความผิดแบบที่ 3 คือความผิดที่มักจะเป็นสิ่งที่คุณทำไปตามธรรมชาติ เพราะมันเป็นนิสัยของคุณ การเรียนรู้และแก้ไขต้องเริ่มจากยอมรับว่านิสัยของคุณนั้นคือความผิดพลาดเสียก่อน และพร้อมจะตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลง ต่อมาก็คือทำให้ความผิดนั้นเป็นเรื่องที่จริงจัง เช่น การให้คำมั่นสัญญาว่าต่อจากนี้คุณจะไม่ไปทำงานสายอีกแล้ว หรือหาเพื่อนมาเป็นตัวช่วยในการปรับปรุงตัวก็เป็นทางออกที่ดี การเปลี่ยนแปลงความผิดประเภทนี้ต้องใช้พลังและความตั้งใจสูงกว่าความผิดสองประแภทแรก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้
ความผิดแบบสุดท้าย คือความผิดพลาดที่ซับซ้อน กฎข้อแรกของการเรียนรู้ความผิดพลาดประเภทนี้คือคุณต้องใจเย็น! ยิ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเท่าไร ยิ่งห้ามบุ่มบ่ามผลีผลามเท่านั้น เพราะการรีบเร่งไปแก้ไข มีแต่จะทำให้เรื่องย่ำแย่ลงไปอีก
หนึ่งในวิธีเรียนรู้ความผิดพลาดประเภทนี้คือ การค่อยๆ ทำความเข้าใจปัจจัยที่ก่อให้เกิดความผิดนั้นหลายๆ ด้าน เช่นเดียวกับวิธีการของนักข่าวหรือนักสืบ ที่ค่อยๆ สืบเสาะหาเบาะแสของเหตุการณ์ จนไปเจอต้นตอของปัญหาจริงๆ เพราะมนุษย์เรานั้นมีข้อจำกัดและเต็มไปด้วยอคติ การค่อยๆ พิจารณาความผิดพลาดประเภทนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง
Share the post "รู้จัก 4 ประเภทของความผิดพลาด และกระบวนการเรียนรู้ไม่ให้ผิดซ้ำที่เดิม"